พ.ศ. 2427

ชาติกำเนิดและชีวิตวัยเยาว์

พระมงคลเทพมุนี ท่านมีนามเดิมว่า สด มีแก้วน้อย
เกิดเมื่อวันศุกร์ ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2427
ตรงกับวันแรม 6 ค่ำ เดือน 11 ปีวอก

พ.ศ.2436

การเล่าเรียนในวัยเด็ก

ท่านเรียนหนังสือกับพระน้าชายที่วัดสองพี่น้อง ต่อจากนั้นได้มาศึกษาต่อที่วัดบางปลา อ.บางเลน จ.นครปฐม ได้ศึกษาหนังสือขอม
จนสามารถอ่านหนังสือพระมาลัย ซึ่งเป็นภาษาขอมทั้งเล่มจนคล่อง

พ.ศ.2446

ตั้งมโนปณิธานบวชตลอดชีวิต

เมื่ออายุ 14 ปี บิดาได้เสียชีวิตลง ท่านจึงต้องมารับช่วงคุมงานการค้าข้าวแทน จนกระทั่งอายุย่างเข้า 19 ปี ระหว่างทำการค้าข้าวอยู่นั้น วันหนึ่งขณะท่านนำเรือลัดคลอง “คลองบางอีแท่น”
คลองนี้ไม่ยาวมากนักแต่เปลี่ยวและมีโจรผู้ร้ายชุกชุม
ท่านได้เกิดความสังเวชสลดใจ คิดคำนึงถึงความไม่มีสาระในการทำมาหาเลี้ยงชีพ จึงคิดออกบวชเพื่อแสวงหาหนทางพ้นทุกข์
แต่เนื่องจากในขณะนั้นท่านยังไม่อาจวางภาระในการดูแลครอบครัวได้ จึงอธิษฐานว่า ” ขออย่าให้ตายเสียก่อนเลย ขอให้ได้บวช
และหากบวชแล้วจะไม่คิดสึกจนตลอดชีวิต “

พ.ศ. 2449

อุปสมบท

ท่านได้อุปสมบทเมื่อ เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2449 ขณะมีอายุย่างเข้า 22 ปี ณ พัทธสีมาวัดสองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี มีฉายาว่า จนฺทสโร

เมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านเริ่มปฏิบัติสมถวิปัสสนากับองค์อนุสาวนาจารย์นับแต่วันบวช  เมื่อบวชแล้วพอรุ่งขึ้นอีกวัน  หลวงปู่ก็เริ่มลงมือปฏิบัติพระกรรมฐานต่อกับพระอาจารย์เนียม วัดน้อย
อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี
และได้จำพรรษาอยู่วัดสองพี่น้อง 1 พรรษา

พ.ศ. 2450

การศึกษาพระปริยัติธรรม

  หลังจากออกพรรษาที่วัดสองพี่น้องแล้ว หลวงปู่ก็ได้เข้าพำนักประจำอยู่ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เพื่อแสวงหาความรู้ให้แตกฉานกว้างขวางและลึกซึ้งยิ่งขึ้น ทั้งในด้านปริยัติและปฏิบัติ สิบปีผ่านไปนับแต่หลวงพ่อเริ่มบวช ท่านมีความรู้ภาษาบาลีแตกฉานพอที่จะอ่านมหาสติปัฏฐานสูตรในคัมภีร์บาลีได้สมความตั้งใจแล้ว ท่านจึงวางธุระการศึกษาฝ่ายภาษาบาลีลง และใช้เวลากับวิปัสสนาธุระ เพื่อการเจริญพระกรรมฐานโดยเต็มที่

เข้าบางกอก เพื่อ ค้นหาความหมายของคำว่า
“อวิชชาปัจจยา”

   เหตุจูงใจอย่างหนึ่งที่ทำให้พระเดชพระคุณหลวงปู่
ได้เข้ามาศึกษาต่อที่พระนคร
คือเรื่องของคำว่า “อวิชชาปัจจยา” นั่นเอง
อวิชชาปัจจยานี้อยู่ในบทสวดมนต์ที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท 

การสร้างมหาทาน

  ในช่วงแรกที่มาอยู่พระนคร ท่านมีความลำบากเรื่องบิณฑบาตเป็นอย่างมาก มีอยู่วันหนึ่ง ท่านออกไปบิณฑบาตรได้เพียงข้าวหนึ่งทัพพีและกล้วยน้ำว้าหนึ่งผล  เมื่อเริ่มฉันได้คำหนึ่ง ท่านก็เห็นสุนัขแม่ลูกอ่อนผอมโซตัวหนึ่ง ด้วยความมีเมตตาสงสารสุนัขตัวนั้น ได้ปั้นข้าวที่เหลืออีกคำหนึ่งและแบ่งกล้วยน้ำว้าครึ่งผลให้แก่สุนัขผอมโซตัวนั้น สุนัขกินแต่ข้าวไม่กินกล้วย คิดจะเอากล้วยกลับมาแต่เห็นว่าไม่สมควรเพราะได้สละขาดไปแล้ว จะเอากลับมาฉันใหม่ในที่นั้นก็ไม่มีใครจะประเคนให้ด้วย  เหตุการณ์นี้ทำให้ท่านตั้งจิตอธิษฐานว่า “ ขึ้นชื่อว่าความอดอยากอย่างนี้ ขออย่าให้มีอีกเลย ”  หลังจากนั้นเป็นต้นมา ทุกครั้งที่ท่านไปบิณฑบาต ปรากฏว่าได้อาหารมามากมาย ท่านจึงได้แบ่งถวายพระภิกษุรูปอื่นด้วย

พ.ศ. 2460

ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย

 

  พรรษาที่ 12 ในปี พ.ศ. 2460 ท่านได้จำพรรษาอยู่ที่วัดโบสถ์บน ตำบลบางคูเวียง จ.นนทบุรี โดยตั้งใจจะตอบแทนพระคุณท่านเจ้าอาวาสที่เคยถวายหนังสือให้ท่านเล่าเรียน และจะได้แสดงธรรมโปรดญาติโยม

    เมื่อถึงกลางพรรษา ในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ท่านได้เข้าไปบำเพ็ญกัมมัฏฐานแต่เวลาเย็นและได้ตั้งสัจจจะอธิษฐานทำสมาธิภาวนาอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพันว่า ” ถ้าเรานั่งลงไปครั้งนี้ไม่เห็นธรรมที่พระพุทธเจ้าต้องการ เป็นอันไม่ลุกจากที่นี้จนหมดชีวิต ” เมื่อตั้งจิตมั่นลงไปอย่างนั้นแล้วท่านก็เริ่มปรารภความเพียร ตั้งจิตกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า 

    ” ขอให้พระองค์ทรงพระเมตตาโปรดประทานธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้แล้วแก่ข้าพระพุทธเจ้า แม้จะเป็นเพียงส่วนน้อยนิดก็ยินดี ถ้าหากการบรรลุธรรมของพระองค์แล้วจักเกิดโทษแก่พระศาสนาก็ขออย่าได้ทรงประทานเลย แต่ถ้าจะเป็นคุณแก่พระศาสนาแล้ว ขอได้โปรดประทานแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด ข้าพระพุทธเจ้าจะขอรับเป็นทนายพระศาสนาต่อไปจนตลอดชีวิต เมื่อตั้งสัจจอธิษฐานแล้วท่านก็เริ่มนั่งขัดสมาธิปฏิบัติกัมมัฏฐาน พอดีมีมดที่อยู่ในช่องแผ่นหินที่ท่านนั่งอยู่นั้นกำลังไต่ไปมารบกวนสมาธิท่าน ท่านจึงหยิบขวดน้ำมันก๊าซ เอานิ้วมือจุ่ม เพื่อจะเขียนวงให้รอบตัวกันไม่ให้มดเข้ามารบกวน
แต่แล้วก็เกิดความคิดว่าชีวิตของเราๆ ได้สละแล้วเพื่อการบำเพ็ญเพียรแต่เหตุใด จึงยังกลัวมดอยู่อีกจึงวางขวดน้ำมันแล้วจึงเจริญกัมมัฏฐานต่อ จนถึงยามดึกจึงได้เริ่มเห็นดวงปฐมมรรคหรือดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์นั่นเอง
เมื่อได้รู้เห็นธรรมะแล้ว ท่านจึงเข้าใจแจ่มแจ้งว่า
“ พระธรรมนี้เป็นของลึกซึ้งยิ่งนักยากที่มนุษย์จะเข้าถึง การจะเข้าให้ถึงได้ต้องรู้ตรึกรู้นึกรู้คิดต้องหยุดเป็นจุดเดียวกัน แต่พอหยุดก็ดับ ดับแล้วก็เกิด ถ้าไม่ดับก็ไม่เกิดนี่เป็นของจริงของจริงอยู่ตรงนี้ถ้าไม่ถูกส่วนนี้แล้วเป็นไม่เห็นเด็ดขาด ”

พ.ศ.2460

การเผยแผ่

 สถานที่เผยแผ่วิชชาธรรมกายที่แรก คือ วัดบางปลา มีพระภิกษุผู้สามารถเจริญรอยตามท่านได้ 3 รูปและคฤหัสถ์ อีก 4 คน หนึ่งในนั้น คือ พระสังวาลย์ ภายหลังพระเดชพระคุณหลวงปู่ ได้ส่งพระภิกษุสังวาลย์มาสร้างวัดผาสุการาม อ.บางเลน จ.นครปฐม

พ.ศ. 2461

เป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ

อยู่มาไม่นาน ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฏก วัดพระเชตุพนฯ
ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของหลวงปู่วัดปากน้ำ ได้ขอร้องให้ท่าน
ไปจำพรรษาที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
ท่านได้รับการแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็นพระครูสมุห์ฐานานุกรม

พ.ศ.2474

ก่อตั้งโรงงานทำวิชชา

 เพื่อให้การทำงานค้นคว้าวิชชาธรรมกายเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และอยู่ในสถานที่ที่เป็นสัดเป็นส่วน ในปี 2474 ขณะที่ท่านอายุได้ 47 ปี ท่านจึงได้สร้างอาคารเพื่อใช้ในการศึกษาค้นคว้าวิชชาธรรมกายขึ้นภายในวัดปากน้ำภาษีาเจริญในสมัยนั้นเรียกว่า  “ โรงงานทำวิชชา ”

พ.ศ. 2481

คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง
ได้พบหลวงปู่

คุณยายขออนุญาตคุณนายเลี้ยบมาปฏิบัติธรรมที่วัดปากน้ำ เมื่อได้พบหลวงปู่วัดปากน้ำครั้งแรก หลวงปู่ก็ทักขึ้นว่า “ มึงมันมาช้าไป ” แล้วหลวงปู่วัดปากน้ำก็ส่งคุณยายเข้าโรงงานทำวิชชา (ห้องปฏิบัติธรรมเพื่อศึกษาวิชชาธรรมกายชั้นสูง) ทันที

พ.ศ. 2493

จัดทำพระของขวัญรุ่นที่ 1 ก่อตั้งโรงเรียน

พระของขวัญ วัดปากน้ำเป็นพระผงขนาดเล็ก ที่หลวงปู่วัดปากน้ำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้สร้างขึ้นเพื่อจะมอบให้เป็นของขวัญแก่ผู้ที่มาทำบุญสมทบทุนในการก่อสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม

พ.ศ. 2502

หลวงปู่มรณภาพ

พระเดชพระคุณหลวงปู่
ได้ถึงแก่มรณภาพ
ด้วยอาการอันสงบ
ณ ตึกมงคลจันทสร วัดปากน้ำภาษีเจริญ
สิริอายุได้ 74 ปีวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502
เวลา 15.05 น. 3 เดือน 24 วัน
นับอายุพรรษาได้ 53 พรรษา

เปิดประวัติพระมงคลเทพมุนี 

(สด จนฺทสโร) 

หลวงปู่สดวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ