ประวัติความเป็นมา
ชมรมพุทธศาสตร์สากล ในอุปถัมภ์สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์
จากชมรมพุทธฯ ในมหาวิทยาลัย ๖ สถาบัน สู่ ๑๕๐ สถาบันทั่วประเทศ
ชมรมพุทธฯ จุฬาฯ
พ.ศ.๒๕๐๓ ได้มีการจัดตั้ง “ชุมนุมพุทธศาสตร์” โดยมีคุณบุญลือ ศรีตุลา เป็นประธานคนแรก
งานสำคัญยิ่ง คือ การจัดอภิปรายเรื่อง”พระพุทธศาสนากับนิสิตในมหาวิทยาลัย” เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๔ ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถและสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาล ทรงฟังอภิปรายเรื่องนี้ด้วย
ในปี พ.ศ.๒๕๒๐ เปลี่ยนชื่อเป็น “ชมรมพุทธศาสตร์และประเพณี” อยู่ภายใต้ฝ่ายวิชาการจนถึงปัจจุบัน
ชมรมพุทธฯ ม.เกษตร
ได้รับแรงบันดาลใจจากชมรมพุทธฯ จุฬาฯ จัดตั้งแผนกพุทธศาสตร์และประเพณี ครั้งแรก เมื่อพ.ศ.๒๕๐๖ หลังจากนั้นเพียงปีเดียวก็หยุดกิจกรรมลง
ครั้งที่ ๒ ในพ.ศ.๒๕๑๐ นายเผด็จ ผ่องสวัสดิ์ นิสิตคณะเกษตร ภาควิชาสัตวบาล ( KU 20 ปัจจุบันคือ หลวงพ่อทัตตชีโว รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย) ได้รวบรวมเพื่อน ๆ เข้ามาฟื้นฟูแผนกพุทธศาสตร์ฯ แต่ก็ปิดตัวลงในปี พ.ศ.๒๕๑๒
จนปี พ.ศ.๒๕๑๕ ศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรม (ปัจจุบันคือ วัดพระธรรมกาย) ได้เปิดโครงการอบรมธรรมทายาทขึ้นเป็นครั้งแรก หลังการอบรม ธรรมทายาทกลุ่มหนึ่งนำได้ร่วมกันฟื้นแผนกพุทธศาสตร์ขึ้นมา จัดตั้งเป็น “ชุมนุมพุทธศาสตร์”
รวมตัวทำกิจกรรม
หลังจากชมรมพุทธศาสตร์เกษตร ออกข้อปฏิบัติให้กรรมการรักษาศีล เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ ชมรมพุทธฯ ม.ราม และจุฬาฯได้ดำเนินรอยตาม
ปี พ.ศ.๒๕๒๔ ชมรมพุทธศาสตร์ มศว.ประสานมิตร ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก
ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นต้นมา มีการก่อตั้งชมรมพุทธฯ
ในมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น จาก ๖ สถาบัน เป็นกว่า ๑๕๐ สถาบันทั่วประเทศ
นิทรรศการสัญจร
ระหว่างวันที่ ๒๕ – ๓๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๘ ชมรมพุทธศาสตร์ ๑๐ สถาบัน ร่วมกับชมรมพุทธศาสตร์สถาบันอุดมศึกษาภาคเหนือ ได้ร่วมกันจัดนิทรรศการ “ทางก้าวหน้าภาคเหนือ” ครั้งที่ ๑ ณ ศาลาอ่างแก้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งทำให้เกิด “ศูนย์กัลยาณมิตรล้านนา” ขึ้น
ต่อมาวันที่ ๑๖ – ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๙ สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ ได้จัดนิทรรศการ “มงคลชีวิต ครั้งที่ ๑” ขึ้น
คณะกรรมการชมรมพุทธศาสตร์ ม.อ. เกิดแรงบันดาลใจจากนิทรรศการทางก้าวหน้าภาคเหนือ จึงจัดนิทรรศการทางก้าวหน้าภาคใต้
ชมรมพุทธศาสตร์สากลฯ ได้จัดกิจกรรมต่างๆ จนปรากฏผลงานที่ก่อให้เกิดคนดีในสังคมอย่างมากมาย
ฝึกตนแล้วจึงทำงานเพื่อสังคม
ความสำเร็จของชมรมพุทธฯ ในการจัดกิจกรรมขนาดใหญ่ระดับประเทศ ๓ โครงการ ได้แก่ โครงการอบรมธรรมทายาทอุปสมบทหมู่ โครงการอบรมธรรมทายาทหญิง และโครงการตอบปัญหาธรรมะทางก้าวหน้า เป็นประจำทุกปี ความต่อเนื่องของโครงการทั้งสอง ทำให้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางและขยายตัวขึ้นทุกปี จึงจำเป็นที่จะต้องหาศูนย์ประสานงานใหม่แทนชมรมพุทธศาสตร์จุฬาฯ เพื่อให้มีการทำงานเหมือนหน่วยงานหนึ่งที่มีผู้รับผิดชอบประจำและต่อเนื่อง
ต้นปีพ.ศ. ๒๕๓๔ ศิษย์เก่าชมรมพุทธศาสตร์จำนวนหนึ่งจากหลายสถาบัน ได้รวมกันเป็นกลุ่มทำงาน อุทิศตนเพื่อรองรับภารกิจในการประสานงาน ต่อจากชมรมพุทธศาสตร์ฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการนี้ได้รับความเมตตาจากเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สุวรรณ สุวณฺณโชโต ป.ธ.๗) เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรฯ รับเป็นองค์อุปถัมภ์
สถานที่ทำการปัจจุบัน เป็นอาคารที่ก่อสร้างขึ้นจากกองทุนที่ศิษยานุศิษย์พร้อมใจกันถวายหลวงพ่อธัมมชโย เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๒ โดยอาคารชมรมพุทธศาสตร์สากลฯ ได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันเสาร์ที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ มีเจ้าหน้าที่ประจำส่วนหนึ่งทำงานร่วมกับนิสิต นักศึกษา อาสาสมัคร ภายใต้คณะที่ปรึกษาทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายฆราวาส
ต่อมาได้กราบอาราธนาสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ ป.ธ.๙) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นองค์อุปถัมภ์ และได้ใช้ชื่อ ชมรมพุทธศาสตร์-สากล ในอุปถัมภ์สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกฝังคุณธรรมตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา ให้หยั่งลึกในใจของเยาวชนทุกระดับชั้น เพื่อให้เยาวชนมีความรู้คู่คุณธรรมอย่างแท้จริง
"เรากำลังสร้างมหาอานิสงส์ยิ่งใหญ่ที่สุด นั้นคือการนำพระธรรมคำสอน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้ไปอยู่ในจิตใจของมนุษย์ทั่วโลก เพื่อนำชาวโลกทั้งหลาย ไปสู่เป้าหมายอันกว้างไกลเกินกว่าจักรวาล นั่นคือ ดินแดนแห่งความสุขอันเป็นนิรันดร์ คือพระนิพพาน"
– โอวาท คุณครูไม่ใหญ่